พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยัน “ไม่มีแนวคิดปิดประเทศหลังพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” และมาตรการต่างๆยังเข้มงวดเหมือนเดิมและขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุขเหมือนเดิม เชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไร”
กรณีพบเชื้อโควิคสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย
• ผู้ติดเชื้อเป็นชายสัญชาติอเมริกัน อายุ 35 ปี อาชีพนักธุรกิจ อาศัยอยู่ที่ประเทศสเปนเป็นเวลา 1 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติการติดโควิด-19 มาก่อน
• 28 พ.ย. 2564 ตรวจ RT-PCR ที่สเปน ผลไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นไปทานข้าวกับเพื่อน (เพื่อนไม่มีอาการป่วย จนถึงปัจจุบัน)
• 29 พ.ย. 2564 เดินทางจากประเทศสเปนไปดูไบ (EK142) พักที่ดูไบ 9 ชั่วโมง ไม่ได้พูดคุยกับใคร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
• 30 พ.ย. 2564 เดินทางจากดูไบ มากรุงเทพฯ (EK372) หลังจากลงเครื่อง (เที่ยงคืน) ไปเก็บตัวอย่างแบบ Drive thru ที่รพ.คู่สัญญา และกลับเข้าโรงแรม (ผู้ป่วยเข้าโครงการ Test & Go)
• 1 ธ.ค. 2564 ได้รับแจ้งจากรพ.ว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาตัวตามกระบวนการ
• 3 ธ.ค. 2564 ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจยืนยัน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
• 6 ธ.ค. 2564 ยืนยันพบเชื้อโควิด -19 สายพันธุ์“โอมิครอน”
กลุ่มเสี่ยงสัมผัส “โอมิครอน”
มีผู้สัมผัสรวม 19 ราย แยกเป็น พนักงานโรงแรม 17 ราย พนักงานในสนามบิน 2 ราย เบื้องต้นทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน เพียง 1 ราย คือ ชายสัญชาติอเมริกัน ที่เดินทางมาจากประเทศต้นทาง ส่วนพนักงานโรงแรมที่สัมผัสใกล้ชิด ผลตรวจล่าสุดไม่พบเชื้อทั้งหมด แต่จะติดตามอาการและตรวจซ้ำ ก่อนครบกักตัว 14 วัน
ทั้งนี้นายกได้มอบหมายให้ทางสธ. ไปวางมาตรการและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มข้นขึ้น สำหรับความชัดเจนกรณีการวางมาตรการและการปรับเพิ่มระดับความเข้มข้นของพื้นที่เพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอน จะมีการพิจารณาในการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ในวันที่ 13 ธ.ค. 2564
โควิดสายพันธุ์โอมิครอน
• สายพันธุ์โอมิครอนดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา 2-5 เท่า
• ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และลักษณะของการติดเชื้อแยกยากจากสายพันธุ์อื่น ๆ
• รายงานการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ พบว่าผู้ติดเชื้อไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
• ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโอมิครอนเสียชีวิต
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 พบมาตลอด สิ่งที่สำคัญมีอยู่ 4 ประการดังนี้
1. แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น
2. ความรุนแรงมากขึ้น
3. ดื้อต่อการรักษา
4. ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง
รูปแบบของโควิด-19 ใกล้เคียงโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อระบาดไปเยอะแล้วจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงของโรคเหมือนจะลดน้อยลง
มาตรการป้องกันที่สำคัญ ต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุดซึ่งประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วกว่า 95 ล้านโดส เข็มที่ 1 ฉีดแล้วเกิน 68.5 เปอร์เซ็นต์ เข็มที่ 2 เกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์