Loading...
Uncategorized

โรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหยเพื่อสุขภาพ ม.สงขลานครินทร์ เพิ่มมูลค่าสมุนไพรและสร้างรายได้แก่เกษตรกร

โรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหยเพื่อสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยการนำสมุนไพรจากเกษตรกรที่ได้รับส่งเสริมและพัฒนาการปลูกสมุนไพรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแปรรูปเป็นสารสกัดน้ำมันหอมระเหยพร้อมจำหน่ายให้แก่ภาคเอกชน อนาคตหวังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าพรีเมี่ยม น้ำมันนวดไพล สคลับไพล สเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลทิต สนธิเมือง หัวหน้าโครงการศูนย์นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการทำงานระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ ในการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจรายได้ยกระดับคุณภาพให้เกษตรกรได้มีอาชีพเสริมในการปลูกสมุนไพร ได้แก่ ไพล และตะไคร้หอม จากนั้นทางโรงงานจะรับซื้อมาแปรรูปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยโรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหยเพื่อสุขภาพที่ได้ต่อยอดจากโครงการสปาฮาลาล เบื้องต้นโรงงานมีความต้องการวัตถุดิบสมุนไพรประมาณวันละ 6 ตัน เพื่อนำเข้าสู่ระบบเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยผ่านกระบวนการต้มกลั่นด้วยน้ำ ซึ่งจะได้น้ำมันหอมระเหยประมาณ 200 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อนำจำหน่ายให้แก่ภาคเอกชนธุรกิจสปา

เครื่องผลิตน้ำมันหอมระเหยใช้กระบวนการต้มกลั่นด้วยน้ำเป็นหลัก เมื่อนำวัตถุดิบตะไคร้หอมหรือไพลใส่เข้าไปในเครื่องหม้อต้ม เติมน้ำให้ท่วม เดินเครื่องให้น้ำเกิดความร้อน ไอน้ำที่เกิดขึ้นจะแทรกตัวเข้าไปในโมเลกุลของวัตถุดิบสมุนไพร ทำให้ต่อมน้ำมันหอมระเหยภายในเซลล์แตกตัวแล้วไอน้ำจะดันน้ำมันขึ้นมากับไอน้ำแล้วเข้าสู่หม้อควบแน่น ซึ่งจะมีน้ำหล่อเย็นหมุนเวียนอยู่ตลอด จะเกิดการกลั่นตัวออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งน้ำมันจะลอยตัวอยู่บนน้ำ ซึ่งใช้เวลากลั่นประมาณ 3-5 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับปริมาณของวัตถุดิบ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรเกิน 5 ชั่วโมงเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของน้ำมันหอมระเหย ซึ่งการกลั่นตะไคร้หอมสด 100 กิโลกรัมสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ประมาณ 10 กิโลกรัม หากเป็นไพลสด100 กิโลกรัม สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ประมาณ 10-14 กิโลกรัม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ แก้ววงศ์ศรี อาจารย์ประจำโครงการศูนย์นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหย เพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรในใน 5 จังหวัดภาคใต้ปลูกสมุนไพรตะไคร้หอม และไพล เป็นการสร้างอาชีพเสริมโดยการปลูกสมุนไพรร่วมกับสวนยางได้ ซึ่งปัจจุบันกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางส่งเสริมให้เกษตรกรทำระบบสวนยางแบบใหม่เหลือประมาณ 40 ต้นต่อไร่ จากเมื่อก่อน 70 ต้นต่อไร่ ทำให้มีช่องว่างระหว่างต้นยางกับต้นยางมากขึ้นขึ้น มีพื้นที่สำหรับการปลูกไพล ตะไคร้ รวมถึงแนะนำให้เป็นระบบเกษตรแบบอินทรีย์เพื่เพิ่มมูลค่าให้แก่สมุนไพรอีกด้วย

โดยในอนาคตโครงการศูนย์นวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีแผนพัฒนาน้ำมันหอมระเหยสู่ผลิตภัณฑ์สินค้าพรีเมี่ยม เช่น น้ำมันหอมระเหยจากไพล สามารถนำมาต่อยอดเป็นเป็นน้ำมันนวด ครีมประคบ ครีมทาแก้ปวดเมื่อย แปรรูปเป็นแผ่นแปะคลายกล้ามเนื้อ ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม สามารถผลิตเป็นสเปรย์หรือแผ่นแปะยากันยุงสำหรับเด็ก หรือนำมาเคลือบหน้ากากอนามัยเพื่อเพิ่มกลิ่นและความสดชื่น เป็นต้น

Share :