Loading...
Uncategorized

คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. ฝึกอบรมการใช้โดรนเพื่อการเกษตรแก่นักศึกษาและเกษตรกร

คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฝึกอบรมการใช้โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 และเกษตรกร เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ มีผู้เข้าร่วมอบรม ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ 60 คน อบรมผ่านระบบประชุมออนไลน์ 190 คน พร้อมสาธิตการฝึกบินและทดสอบการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ณ ห้อง ทธ 260 อาคารเรียน 2 และแปลงฝึกงานวิชาพืชผักสวนครัว คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร มีบทบาทมากขึ้นสำหรับการทำการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งสามารถลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์ การใช้งานแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับสำหรับฉีดพ่น และอากาศยานไร้คนขับสำหรับสำรวจพื้นที่ ซึ่งภาคการเกษตรได้เผชิญปัญหาและความท้าทายในหลายมิติ เช่น ภาวะฝนตกน้อย หรือฝนไม่ตกตามฤดูกาล แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงและการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผศ. ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้ฝึกอบรมการใช้โดรนแก่นักศึกษาและเกษตรกรรุ่นใหม่ และต่อไปจะนำมาเป็นหนึ่งในวิชาเรียนของคณะ เกษตรกรสามารถสำรวจพื้นที่แปลงเกษตร ให้น้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง แก่พืช ผ่านโดรน  การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรช่วยในการจัดสรรและจัดการปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย และข้อปฏิบัติในการบินอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร ตลอดจนสามารถนำทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ในการทำงาน และแก้ไขสถานการณ์จริงได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น 

การอบรมแบ่งเป็นการบรรยาย กฎระเบียบ ขั้นตอนการใช้โดรนเพื่อการเกษตร และแลกเปลี่ยนประสบการณ์นวัตกรรมเพื่อการเกษตรสู่ชุมชนหลังยุคโควิด ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์สำหรับภาคเกษตร  การใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรอย่างปลอดภัย

โดยมีการสาธิตและฝึกปฎิบัติ ฐานการเรียนรู้ที่ 1 การฝึกบินอากาศยานไร้คนขับเบื้องต้น ฐานการเรียนรู้ 2 การทดสอบประสิทธิภาพการบินอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรในพืชต่างๆ ฐานการเรียนรู้ 3 การทดสอบศักยภาพของอากาศยานไร้คนขับในแต่ละประเภท 

วิทยากรจากสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ดร.ดี จันทร์ศุภฤกษ์ และทีมวิทยากร บริษัท นวัตกรรมเพื่อสังคมและเทคโนโลยีเกษตร จำกัด นาวาอากาศเอก ผศ. ดร.เกียรติกุลไชย จิตต์เอื้อ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ดร.พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท ผู้อำนวยการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร และวิทยากร บริษัท เอทีไอ เทคโนโลยี จำกัด 

Share :