ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและวางแผน วิทยาเขตปัตตานี และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการการพัฒนาด้านความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในระดับมหาวิทยาลัย วิทยาเขต คณะ บุคลากร และนักศึกษา ครอบคลุมทั้ง 17 เป้าหมาย โดยกำหนดนโยบายด้านกายภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ SDGs ครอบคลุม 5 วิทยาเขต ทั้งด้านพลังงาน ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการขยะ ด้านการจัดระบบขนส่งสาธารณะ และด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยและร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ระดับประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งมุ่งเน้น 6 เป้าหมายที่สอดคล้องทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ SDG3 Good Health and Well-being (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่เป็นโรงพยาบาลหลักของภาคใต้ โรงพยาบาลทันตกรรม โรงพยาบาลแพทย์แผนไทย ณ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีศูนย์ Primary Care Unit หรือ ศูนย์ PC ที่ร่วมกับโรงพยาบาลปัตตานี มีศูนย์สุขภาพอันดามัน ณ วิทยาเขตภูเก็ต รวมถึงมีหลักสูตรและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการทำวิจัยด้านพลังงานที่เข็มแข็ง สนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทางเลือก การประหยัดพลังงาน การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ช่วยในการลดการใช้พลังงาน และการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะในการติดตามการใช้พลังงานในแต่ละอาคารโดยใช้ระบบสารสนเทศ พร้อมเป็นศูนย์กลางในการใช้พลังงานทางเลือกในภาคใต้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน และเรื่องระบบขนส่ง จัดให้มีรถขนส่งสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดช่องทางการเดินเท้าที่เหมาะสมสำหรับนักศึกษาและบุคลากร เพื่อลดการใช้พาหนะ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG7 Affordable and Clean Energy (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) มหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งศูนย์วิจัย มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการประมง ทรัพยากรชายฝั่ง และสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับทะเล ซึ่งสอดคล้องกับ SDG14 Life Below Water (นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร) ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนบก รวมถึงพืชพรรณต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG15 Life on Land (ระบบนิเวศทางบก)
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ความปรองดอง และสันติสุข โดยมีสถาบันสันติศึกษาและคณะต่างๆ ที่ขับเคลื่อนงานวิจัย มีการเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับสันติศึกษา ตลอดจนมีสำนักส่งเสริมและบริการวิชาการที่ดูแลเรื่องของการส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ทางด้านสุขภาพ และอาชีพต่างๆ ของชุมชนภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG16 Peace, Justice and Strong Institutions (สันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง) และมหาวิทยาลัยยังเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น ชุมชน ประเทศ และนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG17 Partnership for The Goals (หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา) อีกด้วย
“การดำเนินการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้านการพัฒนาตามแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs มีเป้าหมายเพื่อดูแลชุมชนในมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต บุคลากร นักศึกษา ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย รอบข้างมหาวิทยาลัย ชุมชนภาคใต้ ชุมชนใหญ่ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายของ SDGs ต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัตชัย กล่าว