Loading...
Uncategorized

สงขลานครินทร์ จับมือ มหิดล ร่วมสร้างเครือข่ายพันธมิตรการวิจัยสหวิทยาการ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย โครงการเครือข่ายและพันธมิตรการวิจัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยมหิดล-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยและบุคลากรวิจัย ยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในรูปแบบสหวิทยาการ อีกทั้งสนับสนุนการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานให้เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามออนไลน์ ผ่านระบบ Cisco Webex Meeting เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64

สำหรับการลงนามในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยมหิดล จะร่วมกันศึกษา วิจัย พัฒนาโครงการวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยและบุคลากรวิจัย โดยร่วมกันตั้ง “เครือข่ายพันธมิตรการวิจัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยมหิดล-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” (MU-PSU Interdisciplinary Research Consortium) หรือ “เครือข่าย MU-PSU” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขอบเขตความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่าง มม. และ ม.อ. ผ่านเครือข่าย MU-PSU รวมถึงการใช้เครื่องมือวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน แลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการวิจัยร่วมกัน สร้างองค์ความรู้ใหม่ในรูปแบบสหวิทยาการ การพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนากำลังคนขั้นสูงระดับหลังปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกัน

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันด้านการวิจัยภายใต้เครือข่ายพันธมิตรการวิจัยสหวิทยาการระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความสำคัญในการทำงานร่วมกันในอนาคต เชื่อว่าด้วยจุดแข็งของทั้งสองมหาวิทยาลัยและการดำเนินงานร่วมกันจะทำให้โครงการนี้ก้าวหน้าและเกิดความเข้มแข็ง เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติและวิชาการต่อไป 

ด้าน รองศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ม.อ. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนางานวิจัย ในสาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์อาหารและโภชนาการ, สาขาการแพทย์, สาขาเภสัชศาสตร์, สาขาสิ่งแวดล้อม, สาขาสังคมศาสตร์, สาขาคอมพิวเตอร์, สาขาวัสดุศาสตร์, สาขาธรณีฟิสิกส์ และอื่นๆ พร้อมร่วมกันสนับสนุนให้นักวิจัยและนักศึกษาที่ดำเนินโครงการวิจัยภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้รับความสะดวกในการเข้าใช้พื้นที่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ของทั้งสองหน่วยงาน สนับสนุนทุนร่วมวิจัยและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการร่วมงานวิจัยการสนับสนุนแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาเพื่อดำเนินการร่วมวิจัยและเกิดการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยในแต่ละสาขาภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้อีกด้วย

Share :