Loading...
Uncategorized

ม.อ. มั่นใจเดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้า บูรณาการศาสตร์เพื่อพลิกโฉมพื้นที่ภาคใต้ เน้นเกษตรอาหารและสุขภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นําเสนอแผนงานของมหาวิทยาลัยเพื่อประกอบการประเมินศักยภาพของหน่วยงานเพื่อก้าวสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก ต่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม  2564 ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เลือกเข้าอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) โดยใช้ความได้เปรียบในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีวิทยาเขตครอบคลุมพื้นที่ 2 มหาสมุทร และการบูรณาการศาสตร์ในสาขาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อาหาร ยางพารา ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ดิจิทัล การแพทย์ สาธารณสุข การท่องเที่ยว และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นตัวขับเคลื่อนสู่ความเป็นนานาชาติและเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของโลก แต่ไม่ทิ้งการยกระดับเศรษฐกิจชีวิตสังคมท้องถิ่นให้เข้มแข็ง และสร้างองค์ความรู้ที่เป็นสากล โดยมีการเผยแพร่องค์ความรู้ แก้ปัญหาภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การพัฒนาชุมชน การบริการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี
 
สาขาวิชาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีอันดับที่ดีในการจัดอันดับคุณภาพระดับโลกในด้านการวิจัยและการตีพิมพ์ผลงาน คือด้านการเกษตร อาหาร และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่มีการเน้นวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีความพร้อมด้านมาตรฐานความปลอดภัยทั้งต่อห้องปฏิบัติการ ชีวิตร่างกาย และมาตรฐานด้านจริยธรรมเพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนภารกิจ ด้านการแพทย์และสุขภาพ มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก มีความพร้อมด้านหน่วยงานวิจัยและศูนย์ความเป็นเลิศ อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ชุดทดสอบต่างๆ เพื่อรับมือกับงานสาธารณสุขในอนาคต มีสาขาที่มีนักวิจัยที่เข้มแข็งและเชื่อมโยงกับนานาชาติ เช่น ระบาดวิทยา ซึ่งมีนักวิชาการที่มีความสามารถเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักระบาดวิทยาทั่วเอเชีย ในขณะเดียวกันด้านการเกษตร อาหาร จะเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการ ทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน ธุรกิจ ผู้ประกอบการโดยใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ทดลองฝึกฝน การทำมาตรฐานอาหารเพื่อการส่งออก เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบภาคใต้ สร้างอาชีพ สร้างโอกาส 
 
ในการการขับเคลื่อนไปสู่กลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก จะมีการสร้างความเชื่อมโยงกับนานาชาติมากขึ้น เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เป็นที่รู้จักในประชาคมโลก ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนทรัพยากรร่วมกันเพื่อการเข้าสู่สถาบันชั้นนำระดับนานาชาติเร็วขึ้น  นอกจากนั้นจะเน้นการวิจัยขั้นสูง การผลิตกำลังคนที่เป็นผู้นำทางความรู้ของประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยใช้ฐานทรัพยากรบุคคลและเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อมุ่งให้สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมอย่างมีคุณภาพ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่ได้หวังเฉพาะการพลิกโฉมแต่บทบาทของมหาวิทยาลัย แต่มุ่งพลิกโฉมให้ประชาชนในพื้นที่มีความเข้มแข็ง โดยการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับผู้ประกอบการ การทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน ธุรกิจเอกชน การสร้างอาชีพสร้างโอกาสซึ่งจะใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า
Share :