กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์ “โรคลัมปี สกิน” อย่างใกล้ชิด พร้อมชี้แจงประเด็นหนังสือราชการแจ้งผู้บริหารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสถาบันป้องกันโรคเขตเมือง เกี่ยวกับ “โรคลัมปี สกิน” ที่ระบาดในโค กระบือ เป็นการตอกย้ำความพร้อมให้หน่วยงานสนับสนุนกรมปศุสัตว์เพื่อประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคในสัตว์สำเร็จโดยเร็ว หวั่นเชื้ออาจติดมาสู่คนได้ หลังมีรายงานพบผู้ป่วยที่อียิปต์ จึงต้องวางระบบเฝ้าระวัง รับมือในอนาคตอย่างทันท่วงที ยืนยันโรคนี้ยังไม่ถือเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับการทำหนังสือจากกรมควบคุมโรคถึงผู้บริหารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 และสถาบันป้องกันโรคเขตเมืองเพื่อการควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ซึ่งพบการระบาดในสัตว์เคี้ยวเอื้องคือ โค กระบือ ในหลายพื้นที่ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ว่า สาระสำคัญของหนังสือดังกล่าว เป็นการตอกย้ำให้หน่วยงานในสังกัดของกรมควบคุมโรค จัดเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ กำลังคน งบประมาณ เพื่อให้การสนับสนุนร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานในสังกัด เพื่อป้องกันควบคุมโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะการกำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสชนิดนี้จากสัตว์ที่ติดเชื้อติดต่อยังสัตว์ตัวอื่นๆ เช่น แมลงวันดูดเลือด ยุงรำคาญ เห็บ เป็นต้น ซึ่งกรมควบคุมโรคมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้อยู่แล้ว จะช่วยเสริมกลไกการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ เสริมประสิทธิภาพมาตรการอื่นๆ เช่น การฉีดวัคซีน เป็นต้น
แม้ว่าขณะนี้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ยังไม่มีการยืนยันว่าโรคนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่มีรายงานพบกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโค กระบือ ในประเทศอียิปต์ ติดเชื้อนี้จากการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ และสัมผัสอุปกรณ์ที่มีเชื้อปนเปื้อน ในรายงานนี้ยังพบการติดต่อจากคนสู่คนได้อีกด้วย หลังติดเชื้อจะมีอาการเหนื่อยล้า น้ำหนักลด มีไข้ มีตุ่มขึ้นที่ผิวหนังที่ใบหน้า มือ บริเวณต้นขา ก้น รอบทวารหนัก มีอาการคันและเจ็บปวด เป็นความทุกข์ทรมาน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคที่อาจติดต่อจากสัตว์สู่คน กรมควบคุมโรคจึงเห็นควรมีการดำเนินงานเพื่อควบคุมโรคในสัตว์โดยเร่งด่วน ขณะเดียวกันควรต้องเพิ่มการเฝ้าระวังในคนด้วย หากมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต จะสามารถตรวจจับสัญญาณความผิดปกติ และควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะสัมผัสดูแลใกล้ชิดกับสัตว์
หลักเกณฑ์การเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน ในคน จะเน้นการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาล ดำเนินการในผู้ป่วยที่มีอาการไข้ มีตุ่มขึ้นตามผิวหนัง ร่วมกับมีประวัติ สัมผัสกับสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค กระบือ ที่สงสัยป่วยโรคลัมปี สกิน เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการประกอบการวินิจฉัยและรักษา ผลการเฝ้าระวังจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยแต่อย่างใด
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์
อธิบดีกรมควบคุมโรค
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค