มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ความสำคัญกับ สะเต็มศึกษา Science, Technology, Engineering and Mathematics (STEM) Education ซึ่งเป็นการศึกษาในรูปแบบบูรณาการโดยเอาทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มาเชื่อมโยงและใช้ในการแก้ปัญหา พัฒนากระบวนการและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการต่อยอดหลักสูตรที่มีอยู่เดิมให้สามารถนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรักและเห็นคุณค่าของการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมทั้งมีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติงานที่ต้องใช้องค์ความรู้ และทักษะด้านดังกล่าวในภาคการผลิตและการบริการที่สำคัญต่ออนาคตของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของ STEM ในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติโดยเฉพาะในเครือข่ายสมาชิก IMT- GT หรือ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle มีการจัดกิจกรรมร่วมกันตลอดมา เช่น การเข้าร่วมประชุมนานาชาติเรื่องการจัดการศึกษาโดยใช้ STEM ในการประชุมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน EASTEM Project ที่ Vilnius University ประเทศลิทัวเนีย เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและการสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการศึกษาโดยใช้สะเต็ม (STEM) เมื่อวันที่ 30 กันยายน – 3 ตุลาคม 2562 สำหรับประเทศไทยมี 3 มหาวิทยาลัยที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต่อมาวันที่ 12 – 13 ธันวาคม 2562 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ Universiti Utara Malaysia ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติ 4th Inspirational Scholar Symposium (ISS) 2019 ขึ้น ที่ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และเป็นปีแรกที่มีพันธมิตรทางการศึกษาจาก Universiti Utara Malaysia (UUM) มาร่วม โดยเน้นให้ความสำคัญในการผลักดันบัณฑิตและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและมีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในสังคม และต้องสนับสนุนให้นักศึกษามีความต้องการที่จะเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2523 ได้มีการประชุมนานาชาติ SEA-STEM 2020 ครั้งที่ 1 หัวข้อ “Empowering Industry and Changing Communities through STEM Education” ซึ่งเป็นการประชุมออนไลน์โดยมหาวิทยาลัย Syiah Kuala University เมืองบันดาอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อนำเสนอผลการวิจัยล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แบ่งปันประสบการณ์และความรู้ความคิดในการแก้ปัญหาเป็นนวัตกรรมใน STEM Education และสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมด้านวิชาการและอุตสาหกรรม
และในปลายปีนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะสมาชิก IMT – GT UNINET จะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “The 2nd SEA-STEM International Conference (Virtual)” ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและความก้าวหน้าด้านการวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นการต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง IMT – GT UNINET กับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสมาชิกในเครือข่าย IMT – GT UNINET– STEM
โดยกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่
- Professor Dr.Valentina Dagiene, University in Vilnius, Lithuania
- Associate Professor Dr. Hizir, Universitas Syiah Kuala, Indonesia
- Professor Dr.Dato’ Noraini Idris National STEM Movement, Malaysia
- Dr.Mechai Viravaidya The founder, The Population & Community Development Association, Thailand
- Mr.Miroslav Kostecki Pro-Vice Chancellor Central University of Bamenda (CUIBA) Technology Transfer CTO STEMSEL Foundation Inc, Australia
- Professor Dr. Jintavee Khlaisang Chulalongkorn University Vice president, Thailand Association for Educational Communication and Technology
และการนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้หัวข้อ ดังต่อไปนี้
1. Technology-Enhanced STEM Teaching and Learning
2. Pedagogical Modes and Applications of STEM Education
3. Skills & Re-Skills Development for STEM Literacy
4. Curriculum Studies and Development Focused STEM Education
5. Industry linkages and partnerships
6. Interdisciplinary Curriculum Development
7. Other related topics to STEM education
ผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 สิงหาคม 2564 รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Ms. Chongchit Ratyot International Affairs Officer, PSU Tel: +66 81 598 8871, +66 7428 2253 E-mail: stem2021@g.psu.ac.th และ Website: https://stem.psu.ac.th