รศ. นพ.วิวัฒนา ถนอมเกียรติ รังสีแพทย์ หน่วยวินิจฉัยโรคทรวงอก สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยปกติ ภาพถ่ายดิจิทัลรังสีทรวงอกหรือ Digital Chest Radiograph เป็นเครื่องมือวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากจะแสดงให้เห็นความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นในปอด มีราคาถูก และเข้าถึงได้ง่าย แต่โดยปกติการอ่านภาพถ่ายรังสีทรวงอกค่อนข้างใช้เวลาเพราะต้องแปลผลโดยแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยา (ซึ่งเรียกว่ารังสีแพทย์) แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 มากขึ้น ทำให้การแปลผลภาพถ่ายรังสีทรวงอกมีความจำเป็นมากขึ้นตามไปด้วย เพราะแพทย์จำเป็นต้องอาศัยภาพถ่ายรังสีทรวงอกและการวินิจฉัยความรุนแรงเพื่อประกอบการรักษา ดังนั้น ในฐานะรังสีแพทย์คนหนึ่งและในนามประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้ริเริ่มโครงการ “รังสีแพทย์จิตอาสาเพื่อแปลผลภาพรังสีทรวงอกในชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หรือ RadioVolunteer” เพื่อระดมอาสาสมัครที่เป็นรังสีแพทย์ ที่พอจะมีเวลาว่างจากงานประจำ มาร่วมกันแปลผลและรายงานภาพถ่ายรังสีทรวงอก ให้กับทัณฑสถานหรือโรงพยาบาลสนามอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่ขาดแคลนรังสีแพทย์ และส่งรายงานผลนั้นกลับไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้แพทย์นำไปเป็นข้อมูลประกอบการรักษาต่อไป
โครงการดังกล่าวมีการรับสมัครรังสีแพทย์ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการประมาณกว่า 250 คน เริ่มแปลผลและรายงานภาพถ่ายรังสีทรวงอกตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2564 มีภาพถ่ายที่รายงานผลไปแล้วจำนวนกว่า 20,000 ภาพ ซึ่งการอำนวยความสะดวกในการแปลผลภาพถ่ายรังสีทรวงอกในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากบริษัท เจ.เอฟ.แอดวาน เมด จำกัด ในการจัดทำระบบ PACS สำหรับเก็บและจัดส่งภาพตลอดจนนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วย เพื่อคัดกรองและประมวลผลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพปอดของผู้ป่วย ซึ่งรังสีแพทย์จะเข้ามาแปลผล และรายงานให้อีกครั้งเพื่อความถูกต้อง พร้อมระบุข้อแนะนำต่างๆ ทำให้การอ่านภาพถ่ายรังสีทรวงอก มีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตอบสนองต่อการนำข้อมูลไปประกอบรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น